ที่ตั้งของหมู่บ้าน
องค์การบริหารส่วนตำบลสำเภาลูน ตั้งอยู่ในเขตอำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ อยู่ห่างจากอำเภอบัวเชดไปทางทิศตะวันออกประมาณ 5 กิโลเมตร มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 50 ตารางกิโลเมตร หรือ 31,250 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 10.44 ของพื้นที่อำเภอบัวเชด ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลสำเภาลูน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2540 มีอาณาเขตการติดต่อ ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลตาวัง อำเภอบัวเชด
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลสะเดา อำเภอบัวเชด
ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลบัวเชด อำเภอบัวเชด
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลพระแก้ว อำเภอสังขะ
แผนที่ตำบลสำเภาลูน

ลักษณะภูมิประเทศ
มีลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่ราบลุ่มสลับดอน สภาพพื้นที่เหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรม (ทำนา)
ลักษณะภูมิอากาศ
อยู่ในแถบของลมมรสุมเขตร้อน ลักษณะ ของลมฟ้า อากาศ และปริมาณนํ้าฝนจะขึ้นอยู่กับอิทธิพลของลมมรสุมเป็นสำคัญ ลมมรสุม ที่พัดผ่านคือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดจากมหาสมุทรอินเดียเข้าสู่บริเวณภาค ใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้เกิดฝนตก แต่จังหวัดสุรินทร์ได้รับปริมาณ นํ้าฝนจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ค่อนข้างน้อย เนื่องจากมีเทือกเขาพนมดงรักกั้นอยู่ ปริมาณนํ้าฝนส่วนใหญ่มาจากอิทธิพลของลมพายุในทะเลจีนใต้ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดจากแคว้นไซบีเรียและทางตอนเหนือของประเทศจีนทำให้เกิดความหนาวเย็นและความแห้งแล้งโดยทั่วไปโดยเฉพาะ จังหวัดสุรินทร์ได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง
ฤดูกาลในจังหวัดสุรินทร์ มี 3 ฤดู ในแต่ละฤดูจะมีช่วงเวลาไม่คงที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ และอิทธิพลของลมมรสุมเป็นหลัก แต่โดยทั่วๆ ไป พอสรุปได้ดังนี้
– ฤดูร้อน อยู่ระหว่างช่วงเดือน กุมภาพันธ์ หรือมีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคมอากาศร้อนอบอ้าว และร้อนจัดมากในบางช่วง ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งโดยทั่วไป
– ฤดูฝน อยู่ระหว่างเดือน พฤษภาคม หรือมิถุนายน ถึงเดือนตุลาคม ปริมาณนํ้าฝนไม่แน่นอน บางปีมาก บางปี น้อย ขึ้นอยู่กับอิทธิพลของลมมรสุมและลม พายุดีเปรสชันในทะเลจีนใต้
– ฤดูหนาว อยู่ระหว่างช่วง เดือนตุลาคม หรือพฤศจิกายน ถึงเดือน มกราคม ความหนาวเย็นในแต่ละปีขึ้นอยู่กับ อิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และร่องความกดอากาศจากประเทศจีน
ลักษณะของดิน
ลักษณะของดินเป็นดินร่วนปนทราย ไม่มีสารอาหารของพืชเพียงพอ อุ้มน้ำได้น้อย
ลักษณะของแหล่งน้ำ
มีลำห้วยเสียดจะเอิงไหลผ่านตำบลสำเภาลูน เป็นลำห้วยตื้นเขิน ในช่วงฤดูร้อนน้ำจะแห้งขอดเกือบทั้งสาย มีแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ โครงการขุดลอกหนองพยอม บ้านสวาท หมู่ที่ 4 โครงการขุดลอกหนองบอน บ้านสวาท หมู่ที่ 4 โครงการขุดลอกคลองบ้านโคกสมอง หมู่ที่ 5 โครงการขุดลอกคลองน้ำตะวันออกหมู่บ้าน หมู่ที่ ๕ โครงการขุดลอกหนองอีเห็น บ้านแกรง หมู่ที่ 6 โครงการขุดลอกสระตาแสน บ้านไทยเดิม หมู่ที่ 7 โครงการขุดลอกสระหนองพำ บ้านไทยเจริญ หมู่ที่ 9 โครงการขุดลอกหนองกระสัง บ้านโคกเพชร หมู่ที่ 10
ลักษณะของไม้และป่าไม้
มีการตัดไม้ทำลายป่าค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการบุกรุก แผ้วถาง เพื่อการเกษตรกรรม ลักษณะเป็นป่าไม้เบญจพรรณ และไม้เต็งรัง จากการที่ป่าไม้ถูกทำลายมาก จึงมีการปลูกป่าทดแทน หรือปลูกไม้โตเร็วเพื่อการใช้สอย เช่น ต้นกระถินณรงค์ ต้นยางพารา ต้นตะกู และต้นยูคาลิปตัส เป็นต้น